วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

บุคคลที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง




ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2554




สาขา  ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง



นายจันทร์ที   ประทุมภา  อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
อาชีพ  เกษตรกรรม 
อายุ  73 ปี
ที่อยู่  บ้านเลขที่  138 บ้านโนนรัง ม.6 ต.ตลาดไทร อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา  

ผลงานดีเด่น
1. เป็นบุคคลที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับตนเองจนประสบความสำเร็จแล้ว และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ และขยายผลให้แก่ชาวบ้านจนประสบความสำเร็จด้วย 
2. แปลงเกษตรแบบประณีตในพื้นที่ 1 ไร่
ประวัติ
นายจันทร์ที ประทุมภา เป็นเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา        52 ปี  และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้ จากที่เคยประสบภาวะวิกฤตชีวิต มีหนี้สินจำนวนมาก ต้องขายทรัพย์สินที่มีและนำที่ดินไปจำนอง กระทั่งต้องไปทำงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทำงานหนักและอดออม ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงเหลือเงินกลับมาจนสามารถใช้หนี้และไถ่ถอนที่ดินคืนมาได้ แล้วจึงเริ่มต้นวิถีเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี 2534 ด้วยทุนที่มีเหลืออยู่กับตัว คือ สองมือและอุปกรณ์ข้างกาย ได้แก่ จอบและบุ้งกี๋ ขุดสระน้ำด้วยแรงงานที่มีในครัวเรือน จำนวน 4 คน ใช้เวลา 3 เดือน จึงเริ่มเก็บกักน้ำได้ ดำรงตนอย่างสมถะ สร้างอาหารไว้กินเองในครอบครัว และใช้แรงงานภายในครอบครัว 6 คน ไม่มีการจ้างแรงงานภายนอก 
ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น นายจันทร์ที มีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ จำนวน 22 ไร่ มีการบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว 10 ไร่ พื้นที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 10 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และมีสระน้ำรวมกว่า 10 สระ พร้อมกับการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชผัก พืชสมุนไพร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนต้นไม้ในป่าธรรมชาติเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันเป็นระบบนิเวศน์ที่สมดุล มีการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ปลา และปลูกผักทุกชนิดที่ตนเองเคยซื้อกิน เพื่อลดรายจ่าย ขณะเดียวกันสามารถนำผักที่ปลูกไปจำหน่ายในตลาดได้ ทำให้มีรายได้ทุกวันจากการขายผัก ส่วนรายได้หลักต่อเดือนได้จากการขายปลาและสัตว์ที่เลี้ยง สำหรับรายปีก็มีรายได้อีกจากการขายผลผลิตของไม้ยืนต้นประเภทให้ผล ขณะเดียวกันก็จะแปรรูปผลผลิตในครัวเรือน อาทิ จากกล้วย น้ำเสาวรส น้ำมะพร้าว พันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกจะขยายพันธุ์ด้วยตนเองโดยไม่ซื้อมาจากแหล่งอื่น
นายจันทร์ที ได้เริ่มดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี 2540 - 2541 โดยทราบจากสำนักงาน กปร. และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จึงได้ศึกษาว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร ก็ได้รับทราบว่า ต้องพยายามลดรายจ่ายในครอบครัวให้มากที่สุด เมื่อศึกษาแล้วจึงทราบว่าจริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายประจำวัน คือ อาหารที่ต้องกินต้องใช้ แล้วมาคิดต่ออีกว่าอาหารที่ต้องซื้อเขากินมีอะไรบ้าง จึงมาเริ่มคุยกันในครอบครัวว่าเราต้องปลูกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราซื้อกินทุกวัน ดังนั้นทุกอย่างที่เคยซื้อจะต้องปลูกเองทั้งหมด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่วันหนึ่งเคยซื้อ 20 - 30 บาท ก็ไม่ต้องซื้อ และยังมีเงินไว้เก็บออมอีกด้วย
พื้นที่ทั้งหมดของนายจันทร์ที จะปลูกตั้งแต่พืชผักสวนครัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่กินและขายได้ นอกจากพืชผักสวนครัวแล้ว ยังมีไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งที่ปลูกแล้วได้ผลดี และมีพืชที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คือ ผักหวานป่า เพราะราคาดี และมีคนสนใจมาก ราคากิโลกรัมละ 200 บาท รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจทั้งหมดก็ทำให้มีรายได้ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน หลายๆ คนบอกว่าปลูกป่าไม่ได้ เพราะไม่มีหัวไร่ปลายนา แต่ท่านก็ทำเป็นตัวอย่างโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด คือ ปรับคันคูให้ใหญ่แล้วปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ หลากหลาย ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมา สร้างป่าขึ้นมา เพื่อเป็นบำนาญชีวิตให้กับลูกกับหลาน เป็นการฝากเงินไว้กับต้นไม้ ฝากเงินไว้กับดิน ลองคิดดูว่าต้นไม้ต้นหนึ่งปีแรกลงทุนไม่ถึง 10 บาท เมื่อผ่านไป 30 ปี แปรรูปต้นเพิ่มมูลค่าเป็นเงินได้หมื่นกว่าบาท คุ้มค่ามาก
หลังจากได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แล้วประสบผลสำเร็จ ทำให้ที่บ้านจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดความรู้เรื่องทฤษฎีใหม่ของพระองค์ ซึ่งขณะนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้  ที่ใช้อบรมให้กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้หนึ่งในจำนวน 151 ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ ผู้ที่เข้าอบรมคือเกษตรกรที่สนใจในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนจิตสำนึก ให้รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชนได้ ถ้าเกษตรกรอยากจะลดรายจ่ายในการทำเกษตร ก็ต้องให้ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การขยายพันธุ์พืช เพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง เสียบยอด การขยายเพาะพันธุ์ปลาเลี้ยงเอง และสอนวิธีทำหัวอาหารเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นการประหยัดและลดรายจ่ายได้เป็นอย่างมาก วัตถุดิบที่ทำหัวอาหารปลาก็มาจากการเกษตรทั้งนั้น เช่น ถั่ว มัน ข้าวโพด ทุกอย่างที่เกษตรกรทำ และอีกส่วนหนึ่งคือสอนการทำปุ๋ยชีวภาพ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือเกี่ยวกับการลดรายจ่าย และจากการทำงานเพื่อสังคมที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ได้สั่งสมมานั้น ทำให้นายจันทร์ทีได้รับการยอมรับให้เป็นปราชญ์อีสานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปและในปีหนึ่ง มีผู้เข้ามาเรียนรู้และชื่นชมผลงานของนายจันทร์ที ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคน จากความมุ่งมั่นและจริงใจในการให้ความรู้ เนื่องจากนายจันทร์ทีคิดว่า การที่รู้แล้วไม่ควรเก็บไว้เพียงผู้เดียว ควรถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน เพราะคิดว่าตนเองเคยตกทุกข์ได้ยากมา จึงรู้ว่าถ้าเราทำอย่างถูกต้องจะทำให้สำเร็จ ดังนั้นจึงต้องขยายความรู้ให้กับคนอื่นและชุมชนต่อไป


ที่มา : http://www.moac.go.th/ewt_news.php?nid=6932






 สุวรรณ  กันภัย

ตัวอย่าง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ควรเอาอย่าง



"ถ้าวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป หากโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะนึกถึงอะไร...หรือนึกถึงใคร"
จั่วหัวไว้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนยุคนะครับ เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความประทับใจต่อบุคคลที่ผมพานพบและคิดว่าน่าจะเป็นสาระและมุมมองในอีกแง่หนึ่งบนกับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ก็เท่านั้นเองครับ ...
บ่ายของวันหนึ่ง หากดูตามปฏิทินก็คงจะย่างเข้าสู่วสันตฤดูแล้ว แต่อุณหภูมิของโลกยังดูเหมือนจะไม่ไยดีกับวันเวลาของปฏิทินที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ เพื่ออาศัยกลไกของธรรมชาติในการดำรงอยู่ของชีวิตที่ไม่จีรัง
ผมบึ่งรถไปตามถนนลาดยางจากอำเภอศีขรภูมิมุ่งหน้าสู่อำเภอสนม จุดหมายปลายทางที่ห่างกันเพียง ๓๐ ก.ม.ทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นท้องทุ่งเริ่มมีสีเขียวของหญ้าที่ระบัดใบ หลังจากท้องฟ้าประพรมความชุ่มฉ่ำพอให้คลายร้อน
ชาวนาบางส่วนที่ขยันทำมาหากิน จับจอบเสียมที่วางไว้หลายเดือนมาปรับแต่งคันนาเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อรอฝนใหญ่ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า
สองข้างทางที่ดูโปร่งตา เริ่มหนาทึบไปด้วยไม้ใหญ่ เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสนม ผมแวะซื้อยาเส้นจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปฝากผู้ที่ผมกำลังจะไปพบ

  
ผ่านถนนคอนกรีตในตัวเมืองที่บ่งบอกถึงการทำงานของผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนในชนบท
สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานมนาน ... และอาจจะเป็นแบบนี้อีกนาน
จากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนดิน ผ่านป่าทึบที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน รถจักรยานที่สวนมามีผักปังเต็มตะกร้า
ในรัศมีไม่กี่มากน้อยเท่านั้นที่เห็น และแหล่งอาหารนั้นกำลังหดหายไปตามวัฏฏะของโลก



ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ท่ามกลางท้องนาที่ว่างเปล่า หากใครมาพบเห็นจะต้องสะดุดตากับความเขียวขจี บนพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ของลุงสุวรรณ กันภัย เกษตรกรผู้ทรหด ที่ถือเป็นตำนานที่ยังคงมีชีวิตอยู่
แม้อากาศโดยทั่วไปในยามนี้จะร้อนปานใด หากแต่ย่างเข้าไปในบริเวณ "ไร่นา-สวนผสม" ของลุงสุวรรณแล้วเราจะรู้สึกถึงความแตกต่างแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้
...เย็นกาย เย็นตา และเย็นใจ...
ทางเดินขนาดสองคนเดินเคียงกันได้ จากปากทางเข้าสู่บ้านของลุง ดูสะอาดตา ตลอดสองข้างทางดาษดาไปด้วยพรรณไม้หลากชนิด ทั้งไม้ผลและผักสวนครัว
ในส่วนที่จัดแบ่งไว้ทำนา ข้าวในนาสูงราวศอก ขณะที่ผ่านมานั้น เกือบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทำอะไรกับผืนนา คงเป็นเวลาเดียวกันกับข้าวในนาของลุงสุวรรณและครอบครัวตั้งท้อง โดยที่ชาวนาส่วนใหญ่กำลังลงกล้ากัน
                            

ลานข้างๆ กระท่อมหลังน้อยของลุงสุวรรณกลายเป็นห้องรับแขกกลางทุ่งไปโดยปริยาย ป้าคำตันคู่ชีวิตของลุงกำลังนั่งห่อใบตองเพื่อทำขนมตาลกับหลานสาว
"จำผมได่บ่ป้า" ผมยกมือไหว้ทักทายพร้อมกับส่งของฝากที่มีชื่อเสียงของอำเภอศีขรภูมิ ..กาละแม
"นี่ยาเส้นของลุง ลุงไปไสละ"
ป้าทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ครั้งสุดท้ายที่มาเยือนจะผ่านไปเกือบปีแล้วก็ตาม
"ผมว่าจะแวะมาขอมะกรูดป้าไปสระผมนะครับ" ครั้งที่แล้ว ป้าเก็บมะกรูดถุงใหญ่ให้ผม เพื่อให้ผมเอาไป "สระผม" เพราะเห็น "ผม" ของผม ดูอาวุโสเกินวัย
และนับแต่นั้นมาเกือบปีแล้วที่ผม "สระผม" ด้วยมะกรูด อย่างต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ แรกๆ ก็ไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ผมก็ลองใช้กระทั่งแน่ใจว่า มะกรูด ทำให้ "ผม" ของผมดีขึ้นจริงๆ ที่แน่ๆ ผมไม่เคยมีรังแคและไม่เคยคันศีรษะเลยตั้งแต่ใช้มะกรูดสระผม
ใช้แบบสดๆ บีบน้ำใส่ "ผม" และเอาเปลือกถูให้ทั่วศีรษะ หรือจะต้มทั้งลูกแล้วปั่นเก็บไว้ก็ได้
ไม่ใช่ว่าผมจะกลับไปสู่ยุคอดีตนะครับ แต่ผมลองใช้แล้วไม่เสียหลาย อีกทั้งบ้านผมเองก็มีต้นมะกรูดที่ออกผลทั้งปีหากที่เก็บมาหมดแล้ว ผมก็จะไปเก็บ "ยาสระผม" มาใช้
ใช้แรกๆ ผมไม่ทราบว่ามันจะเป็นอย่างไรหรอกครับ มีอยู่หนหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มูลนิธิพัฒนาอีสานพวกเขาถามผมว่า "ไปย้อมผมมาเหรอ" ทำไมไม่หงอกแล้ว
ผมก็อธิบายให้ฟังและอีกหลายคนที่ไม่เจอะหน้าค่าตาก็ทักแบบเดียวกัน จนผมต้องกลับไปสำรวจดู "ศีรษะ" ตัวเองใหม่
เรื่องนี้ผมเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง หลายคนสนใจ แม้กระทั่งเพื่อนที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่สุรินทร์นี่ยังขอไปทดลองใช้เลย

                            

ลุงสุวรรณกับป้าคำตันนี่แหละที่แนะนำผม และหากใครได้เห็น "ผม" ของทั้งสองท่านนี้ จะดำสนิทเลยครับ ป้าเล่าให้ฟังว่าก็เก็บดอกอัญชันหน้ากระท่อมนั่นแหละมาใช้ด้วย
ทักทายกันตามสมควร ผมกับป้าเดินไปหาลุงสุวรรณที่มาผักผ่อนท้ายสวนกับหลานชาย ป้าตะโกนเรียกจนลุงตื่น พลอยให้หลานชายที่หลับอุตุตื่นขึ้นมาด้วย
ผมยกมือไหว้ขอโทษขอโพยลุง เลยไปถึงหลานชายด้วย ที่มารบกวนเวลาพักผ่อน
"น่าอิจฉานะลุง" ผมกล่าวด้วยใจจริง ลุงเชื้อเชิญให้ผมขึ้นมานั่งบนเถียงนาน้อยด้วยกัน
ลุงเล่าให้ฟังว่า เพิ่งมีนักเรียนจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง มาเยี่ยมเยียนดูงานเร็วๆ นี้เอง ตั้งหลายรุ่นแล้ว
...
ลุงสุวรรณมีความรู้ทางการศึกษาในระบบแค่ป.๔ และเคยผ่านงานกุลีในเหมืองแร่ที่ปักษ์ใต้กว่า ๖ ปี ก่อนจะมาทำงานในโรงงานย่านสมุทรปราการและในเมืองหลวงอีกหลายปี ในวัยหนุ่ม
กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับป้าคำตันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว และนำคู่ชีวิตไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยความมุงานและเป็นคนจริงของลุงสุวรรณทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง ทำให้ลุงทำงานหนักขึ้นไปอีก เพื่อส่งเงินมายังบ้าน
สุดท้ายก็รู้ตัวว่าสุขภาพย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพของบรรพบุรุษ กับทุนรอนไม่กี่พันบาทผนวกกับที่นาที่พ่อตายกให้ส่วนหนึ่ง
แรกๆ ลุงก็ทำนาเหมือนกับชาวนาทั่วๆ ไป ทำไปทำมาก็มีแต่หนี้สิน เลยเปลี่ยนวิถีใหม่หันมาทำแบบผสมผสานแต่ไม่มีทฤษฎี เรียกว่า "ทำหา" ว่างั้นเถอะ
เป็นใครก็ต้องอ้าปากค้างหรือหาว่าลุงเสียสติ เมื่อรู้ว่าสระน้ำ บ่อน้ำ ที่ในผืนนาทั้งหมดนั้น ลุงขุดด้วยมือของลุงเองทั้งสิ้นด้วยหวังจะใช้นำในบ่อเพื่อรดพืช ผักที่ปลูกไว้



ในไร่นา-สวนผสมของลุงสุวรรณ แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าว ๒ ไร่ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๓-๔ บ่อ มีต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตทั้งปีกว่า ๑๐๐ ต้น ชมพู่กว่า ๑๐๐ ต้น พืช ผักสวนครัว อาทิ หอม ยี่หร่า สาระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ สารพัดชนิดรวมถึงปลาในสระ ทั้งหมดนี้กินได้ไม่รู้จบ
ผมประทับประโยคหนึ่งที่ลุงตอบคำถามว่า
"ลุงใช้อะไรเลี้ยงปลาในสระ" ลุงตอบว่า
"ลุงไม่ได้เลี้ยงปลา ปลาเลี้ยงลุง"



บ่อปลา ในแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง"

จากนาเชิงเดี่ยวในปี ๒๕๑๖ อีก และกว่า ๕ ปีที่มุ "ทำหา" (ทำไปเรื่อยเปื่อย) กระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ลุงสุวรรณกับป้าคำตัน "ทำหา" นั้นกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่เก็บกินไม่รู้หมด ลูกหญิง-ชาย ที่ไปทำงานในเมืองหลวงก่อนก็ถูกเรียกกลับมาช่วย "ทำหา" ลุงสุวรรณสร้างบ้านหลังงามให้ลูกบนผืนนานั้นเอง
ทุกว้นนี้ นอกจากจะทำในสิ่งที่ลุงรักแล้วและอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังน้อยที่ปราศจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งในครัวป้าคำตันยังคงใช้ฟืนที่เก็บจากไร่นานั่นเองในการหุงหาอาหาร
แม้จะมีความรู้แค่ ป.๔ ลุงสุวรรณ แต่ลุงยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในด้านการทำเกษตรแบบพอเพียง ให้กับหน่วยงานราชการ, เกษตรกรทั้งไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ที่สนใจในอาชีพนี้อีกด้วย


ด้วยการศึกษาเพียง ป.๔ ลุงสุวรรณยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายกระทั่งประสบผลสำเร็จในชีวิตทำให้ผมทึ่งและน้อมรับ ยอมรับในความสามารถ หากเทียบกับคนที่มีการศึกษาสูงแล้ว (ถ้าหากเอาปริญญาเป็นตัวตั้ง--รวมทั้งผมด้วย) ลุงสุวรรณสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นครูของแผ่นดิน
แน่นอนที่สุด ใบประกาศเกียรติคุณและเกียรติยศที่คนจบป.๔ อย่างลุงสุวรรณได้รับทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเสมอไป
ลุงสุวรรณ ป้าคำตัน สระน้ำและต้นไม้ในสวนของลุงสอนผมหลายๆ อย่าง รวมทั้งหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิต ที่อยู่กันอย่างสมดุลและเอื้อต่อกัน
เกียรติ ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้น
ยกมือไว้ร่ำราพร้อมกับมะกรูดถุงใหญ่
ขากลับผมแวะซื้อลูกปลานิล เอาไปปล่อยในสระที่บ้านสวนศีขรภูมิ
...
ผมนึกถึงเรื่องลุงสุวรรณ ขณะดูทีวีเห็นข่าวรถไฟใต้ดินในประเทศไทยจะเปิดใช้ในช่วงต้นปีหน้า
นึกถึงความเจริญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผมได้ไปเห็นแค่เสี้ยว
นึกถึงตอนตัวเองนั่งรถไฟฟ้าลอดใต้อุโมงค์ใต้น้ำจาก Oak Land ไป ซานฟรานซิสโก
... นึกถึงหลายอย่างที่พานพบ

ผมตั้งคำถามเล่นๆ ให้กับตัวเอง

"นับแต่พรุ่งนี้ ถ้าโลกไม่มีไฟฟ้า -- ใครจะอยู่ได้โดยไม่เดือนร้อนเลย"


ที่มา :  http://www.kradandum.com/people/people_01.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น